เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
[27] พระองค์พร้อมทั้งสาวก ทรงยกธรรมเจดีย์
อันประดับด้วยผ้าคือธรรมแล้ว1
ทรงร้อยพวงดอกไม้คือธรรมเสร็จแล้ว
เสด็จดับขันธปรินิพพาน
[28] สาวกของพระองค์งดงามด้วยฤทธิ์อันยิ่งใหญ่
พระองค์ทรงประกาศศิริธรรม2
ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
[29] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่ปัตตาราม
พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์
แผ่ไปอย่างกว้างขวางในนานาอารยประเทศ ฉะนี้แล
โกนาคมนพุทธวงศ์ที่ 23 จบ

24. กัสสปพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระกัสสปพุทธเจ้า
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ตามพระโคตร
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์
ทรงเป็นธรรมราชา มีพระรัศมี
[2] ทรัพย์อันเป็นมรดกของตระกูล ที่สัตว์เป็นอันมากบูชากัน
พระองค์ทรงสละให้ทานแก่พวกยาจก

เชิงอรรถ :
1 ยกธรรมเจดีย์ หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ
อันประดับด้วยแผ่นผ้า หมายถึงประดับด้วยอริยสัจ 4 (ขุ.พุทฺธ.อ. 27/377)
2 ศิริธรรม ได้แก่ โลกุตตรธรรม (ขุ.พุทฺธ.อ. 28/377)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :711 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 24. กัสสปพุทธวงศ์
ทำจิตให้เต็ม ทำลายกิเลสดังคอก
เหมือนโคอุสภะทำลายคอก ฉะนั้นแล้ว
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ
[3] เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระผู้นำสัตว์โลก
ประกาศพระธรรมจักร
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 20,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 1
[4] ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในโลกตลอด 4 เดือน
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 10,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 2
[5] ในคราวเมื่อพระองค์ทรงทำยมกปาฏิหาริย์แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ
ประกาศพระญาณธาตุ1
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 5,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 3
[6] พระชินเจ้าทรงแสดงธรรมที่สุธรรมเทพนคร ที่รื่นรมย์นั้น
ทรงทำให้เทวดาประมาณ 3,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรม
[7] ในคราวที่ทรงแสดงธรรมแก่ยักษ์นรเทพ
อีกครั้งหนึ่ง
เทวดาเหล่านั้นได้บรรลุธรรมคำนวณนับไม่ได้
[8] แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพพระองค์นั้น
ก็ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ครั้งเดียว
[9] ครั้งนั้น ภิกษุประมาณ 20,000 รูป
ผู้ล่วงภพ ผู้คงที่ด้วยหิริและศีล มาประชุมกัน
[10] ครั้งนั้น เราเป็นมาณพมีชื่อปรากฏว่าโชติปาละ
คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท

เชิงอรรถ :
1 พระญาณธาตุ ได้แก่ สัพพัญญุตญาณ (ขุ.พุทฺธ.อ. 5/381)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :712 }